ไรแดงมันสำปะหลัง (Tetranychus truncates Ehara)
ไรแดงมันสำปะหลังเป็นแมลงประเภทปากดูดอยู่รวมเป็นกลุ่มตามใต้ใบพืช พบการระบาดรุนแรงในช่วงฤดูแล้ง ตัวเมียขยายพันธุ์โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ (Parthenogenesis) และสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็ววงจรชีวิตสั้น
วงจรชีวิตของไรแดง
- ระยะไข่ 4-5 วัน
- ตัวอ่อน มี 3 ระยะ โดยระยะแรกมี 6 ขา
- ระยะที่ 2-3 มี 8 ขา รวมอายุ 6-10 วัน
- ตัวเต็มวัย มี 8 ขา อายุประมาณ 15 วัน
ไรแดงมันสำปะหลัง เข้าทำลายมันสำปะหลังโดยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณหลังใบ ทำให้เกิดเป็นจุดประสีเหลือง/ขาวบริเวณด้านหน้าใบ ไรแดงสร้างเส้นใยปกคลุมใบและลำต้นเมื่อเข้าทำลายอย่างรุนแรงจะทำให้ใบแห้งเป็น สีน้ำตาลและต้นแคระแกร็น
แนวทางการป้องกันกำจัดไรแดงมันสำปะหลัง
- หมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากไรแดงมีขนาดเล็กมาก สามารถปลิวตามลมได้ หากพบการเข้าทำลายให้เก็บไปเผาทำลายนอกแปลง
- หลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้ง ช่วงเป็นระยะเวลานาน
- กรณีพบการระบาดรุนแรงแนะนำให้พ่นสารกำจัดไร ได้แก่
– อามีทราซ 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรผสมน้ำ 20 ลิตร
– สไปโรมีซีเฟน 24% เอสซี อัตรา 6 มิลลิลิตรผสมน้ำ 20 ลิตร
– ที่บูเฟนไพเรด 36% อีซี อัตรา 3 – 5 มิลลิลิตรผสมน้ำ 20 ลิตร
– ไพริดาเบน 20% ดับเบิลยูพี อัตรา 15 – 20 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร
โดยทำการฉีดพ่นให้ทั่วและไม่ควรพ่นสารซ้ำกันเกิน 2 ครั้ง โดยการสลับกลุ่มสารเพื่อป้องกันการดื้อยาหรือต้านทานสารเคมีของแมลง
ที่มาข้อมูล: กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เอกสารคำแนะนำ ที่ 1 / 2566 ศัตรูมันสำปะหลังและการจัดการ จัดทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์: พ.ศ. 2566
