
ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีมันสำปะหลังพันธุ์ต้านทานโรคใบด่างมัน ที่ทั้งต้านทานต่อโรค ให้ผลผลิตดี มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงเป็นที่ต้องการของโรงงานแป้งและเกษตรกร ทำให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตโรคใบด่างที่ระบาดในประเทศไทย
ลักษณะประจำพันธุ์ต้านทาน
อิทธิ 1
ใบยอดอ่อนมีสีเขียวอมม่วง ก้านใบสีเขียวอมแดง ใบมีรูปร่างลักษณะคล้ายหอก ทรงต้นตั้งตรงและแตกกิ่งเล็กน้อย หัวมันสำปะหลังไม่มีรอยคอดที่หัว รูปทรงกรวย เนื้อหัวสีขาว ผิวนอกขรุขระ เปลือกมีสีน้ำตาลอ่อน ผลผลิตหัวมันสด 4.2 ตัน/ไร่ เปอร์เซ็นต์แป้ง 25.3% และเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคใบด่างต่ำ (0.5-4.9%)
อิทธิ 2
ใบยอดอ่อนมีสีม่วงอมน้ำตาล ก้านใบสีแดงเข้มอมเขียว ใบมีรูปร่างลักษณะคล้ายหอก ทรงต้นตั้งตรงและแตกกิ่งต่ำ 1 ระดับ หัวมันสำปะหลังไม่มีรอยคอด รูปทรงกรวย เนื้อหัวสีขาว ผิวนอกเรียบ เปลือกมีสีน้ำตาลทองอ่อน ผลผลิตหัวมันสด 4.5 ตัน/ไร่ เปอร์เซ็นต์แป้ง 19.8% และเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคใบด่าง 0%
อิทธิ 3
ใบยอดอ่อนมีสีม่วง ก้านใบสีแดงเข้ม ใบมีรูปร่างลักษณะคล้ายหอก ทรงต้นตั้งตรงและแตกกิ่งสูงเล็กน้อย หัวมันสำปะหลังมีรอยคอดที่หัว รูปทรงกรวยแกมกระบอก เนื้อหัวสีขาว ผิวนอกหัวขรุขระ เปลือกหัวมีสีน้ำตาลเข้ม ผลผลิตหัวมันสด 2.9 ตัน/ไร่ เปอร์เซ็นต์แป้ง 20.7% และเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคใบด่างต่ำ (0.5% – 4.9%)
*ผลผลิตหัว เปอร์เซ็นต์แป้ง และเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคใบด่าง อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูก ลักษณะดิน การให้น้ำ และวิธีดูแลแปลงปลูกของเกษตรกรในแต่ละแปลง การใช้พันธุ์ต้านทานเป็นหนึ่งทางเลือกในการต่อสู้กับการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทย
ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย
ศูนย์กลางความรู้และเทคโนโลยีด้านมันสำปะหลัง ขอขอบคุณสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ให้การสนับสนุน